เจโทรเชื่อจังหวัดท่องเที่ยว-หัวเมือง โอกาสใหม่ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ดีมานด์พุ่งทุกประเภทร้าน ทั้งราเมน สุกี้ อิซากายะ เนื้อย่าง ฯลฯ หลังผลสำรวจปี66 ชี้จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นใน ตจว.เพิ่ม 2.5 เท่า
นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร (JETRO) กล่าวว่า จากการสำรวจธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2566 ซึ่งเก็บข้อมูลทั้งด้วยการสัมภาษณ์บริษัทในวงการ 18 บริษัท และค้นข้อมูลตัวเลขจำนวนร้าน ตั้งแต่ 15 สิงหาคม-28 ธันวาคม 2566 ซึ่งไม่เพียงสามารถสะท้อนภาพธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2566 ที่ผ่านมา แต่ยังฉายเทรนด์ของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2567 นี้ และอนาคตอีกด้วย
ตจว.โอกาสใหม่มาแรง
โดยในปี 2566 ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 ร้าน หรือ 8% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมี 5,325 ร้าน โดยปริมณฑลและจังหวัดหัวเมืองมีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดดเด่นแซงหน้าทั้งกรุงเทพฯและค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ สะท้อนจากจำนวนร้านในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า ส่วนใน 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า ขณะที่กรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าเท่านั้น
ไปในทิศทางเดียวกับด้านประเภทร้านอาหารที่ทุกประเภทยกเว้นร้านซูชิและเทปันยากิ-โอโคโนมิยากิต่างเพิ่มขึ้นในทั้งปริมณฑลและต่างจังหวัด โดยใน 5 จังหวัดปริมณฑล ร้านที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น อาทิ อิซากายะมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุดด้วยระดับ 43.5% เป็น 33 ร้าน ตามด้วยยากินิคุ-บาร์บีคิวเพิ่มขึ้น 31% เป็น 55 ร้าน, ราเมนเพิ่มขึ้น 30.8% เป็น 136 ร้าน, สุกี้-ชาบูเพิ่มขึ้น 28.3% เป็น 68 ร้าน, คาเฟ่เพิ่มขึ้น 15.4% เป็น 30 ร้าน, ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 14% เป็น 196 ร้าน, อาหารทอดเพิ่มขึ้น 9.5% เป็น 23 ร้าน
ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ นั้น ร้านยากินิคุ-บาร์บีคิว เพิ่มขึ้นมากที่สุดในอัตรา 33.9% เป็น 162 ร้าน รองลงมาเป็นราเมนเพิ่มขึ้น 22.2% เป็น 253 ร้าน, อาหารทอดเพิ่มขึ้น 22.2% เป็น 11 ร้าน, อิซากายะเพิ่มขึ้น 20.6% เป็น 152 ร้าน, แกงกะหรี่-ข้าวห่อไข่ เพิ่มขึ้น 18.6% เป็น 51 ร้าน, สุกี้-ชาบู เพิ่มขึ้น 15.4% เป็น 202 ร้าน, ข้าวหน้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 13.9% เป็น 41 ร้าน, คาเฟ่เพิ่มขึ้น 7.7% เป็น 84 ร้าน และภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 4.1% เป็น 654 ร้าน
นอกจากตัวเลขจำนวนร้านแล้ว ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายรายยังให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นจะได้รับความนิยมในประเทศไทยต่อไป และคาดว่าในอนาคตรูปแบบของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะหลากหลายยิ่งขึ้น และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีจำนวนประชากรสูง ถึงแม้จะมีความท้าทาย เช่น การปรับตัวให้เข้ากับความต้องการและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้บริโภค และการนำเสนอเมนูอาหารญี่ปุ่นที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ฯลฯ ก็ตาม
ประธานเจโทรย้ำว่า เจโทรจะเดินหน้าสนับสนุนการขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดของไทยผ่านการจัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน จัดแคมเปญประชาสัมพันธ์วัตถุดิบอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น Made in JAPAN on tour วัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ ยกญี่ปุ่นมาไว้ใกล้บ้าน ในทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว
ร้านอาหารญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นไปสู่นานาประเทศทั่วโลก พร้อมกันนั้นยังมีบทบาทขยายการส่งออกผลผลิตเกษตร ป่าไม้ ประมง และสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ราเมน-สุกี้ชาบู มาแรง
นายคุโรดะกล่าวต่อไปว่า ปี 2566 จำนวนลูกค้าและยอดขายของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยฟื้นตัวกลับมาประมาณ 80-90% ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคชาวไทยกลับสู่สภาพช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยร้านอาหารญี่ปุ่นหลายรูปแบบนอกจากร้านซูชิ ไม่ว่าจะเป็นราเมน, สุกี้-ชาบูชาบู, อิซากายะ และเนื้อย่าง ต่างมีดีมานด์สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากผลวิจัยจำนวนร้านทั่วประเทศ ซึ่งร้านเนื้อย่างเพิ่มขึ้น 22.3% เป็น 417 ร้าน, ราเมนเพิ่มขึ้น 21.3% เป็น 741 ร้าน, อิซากายะเพิ่มขึ้น 18.4% เป็น 437 ร้าน, สุกี้-ชาบูเพิ่มขึ้น 17.4% เป็น 453 ร้าน, แกงกะหรี่เพิ่มขึ้น 12.1% เป็น 158 ร้าน, อาหารทอดเพิ่มขึ้น 10.6% เป็น 136 ร้าน อย่างไรก็ตาม แม้ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายประเภทจะเติบโต แต่ร้านซูชิ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดนั้นมีแนวโน้มหดตัว โดยปี 2566 จำนวนร้านซูชิลดลง 4.1% จาก 1,431 ร้าน เหลือ 1,372 ร้าน เนื่องจากการแข่งขันที่สูงมากในเซ็กเมนต์นี้ หลังจำนวนร้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ประธานเจโทรทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางแนวโน้มเติบโตนี้ ยังมีความท้าทายอยู่ โดยผู้ประกอบการหลายรายให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการร้าน
หวังว่าการเพิ่มจำนวนของร้านอาหารญี่ปุ่นจะส่งผลให้การนำเข้าและการค้าวัตถุดิบอาหารจากประเทศญี่ปุ่นขยายตัวต่อไป
14/1/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 14 มกราคม 2567 )