ปี 2566 ที่ผ่านมาโรงแรมในเครือเซ็นทารามีอัตราการเติบโต 52% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยรายได้รวม 9,932 ล้านบาท และสามารถทำกำไรได้กว่า 760 ล้านบาท หลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ยังเป็นปีที่ เซ็นทารา ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจที่เซ็นทาราเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีในไทย และเป็นปีที่ประสบความสำเร็จกับหลากหลายโปรเจ็กต์สำคัญ อาทิ การเปิดให้บริการ เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า โรงแรมแห่งแรกในญี่ปุ่น รวมถึงต่อสัญญา เซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน
โหมลงทุนย้ำแบรนด์ชั้นนำ
สำหรับปี 2567 นี้ ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา และ กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2567 นี้ เซ็นทารา ยังเดินหน้าตอกย้ำความเป็นเครือโรงแรมชั้นนำ ด้วยการเตรียมเปิดให้บริการโรงแรมทั้งในและต่างประเทศเพิ่มทั้งหมด 5-6 แห่ง
ประกอบด้วย โรงแรมในประเทศไทย 3 แห่ง สปป.ลาว 2 แห่ง และมัลดีฟส์ 1 แห่ง รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 6,500-7,000 ล้านบาท
โดยในประเทศไทย ได้แก่ เซ็นทารา ไลฟ์ ละไม รีสอร์ท สมุย จำนวน 40 ห้อง มีแผนเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2567 เซ็นทารา วิลลา เกาะพีพี (กระบี่) จำนวน 40 ห้อง มีแผนเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4/2567 และเซ็นทารา ไลฟ์ สุราษฎร์ธานี จำนวน 101 ห้อง มีแผนให้บริการในช่วงไตรมาส 4/2567 เช่นกัน
ส่วน 2 แห่งใน สปป.ลาว ได้แก่ โคซี่ เวียงจันทน์ น้ำพุ จำนวน 100 ห้อง มีแผนเปิดให้บริการปลายเดือนมีนาคม 2567 และเซ็นทารา พลูมเมอเรีย รีสอร์ท ปากเซ (ยังไม่กำหนดเปิด) และอีก 1 แห่งในมัลดีฟส์ คือ เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์ จำนวน 145 ห้อง มีแผนเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2567
มัลดีฟส์เรามีแผนเปิดเพิ่ม 2 โรงแรมคือ เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์ ที่จะเปิดปลายปีนี้ และเซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์ รีสอร์ตหรูขนาด 142 ห้องพัก อีก 1 แห่ง ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 1/2568 ซึ่ง 2 โรงแรมนี้ลงทุนรวมกันราว 4,600 ล้านบาท ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของเราในช่วงปี 2567-2568
ปรับโฉม 2 โรงแรมแฟลกชิป
นอกจากนี้ ปีนี้ เซ็นทารา ยังทำการปรับโฉมครั้งใหญ่โรงแรมแฟลกชิป 2 แห่ง คือ เซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต จำนวน 335 ห้องพัก คาดว่าน่าจะเสร็จประมาณปลายปีนี้ และ เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา จำนวน 553 ห้องพัก ซึ่งได้ทยอยรีโนเวตมาต่อเนื่อง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ราวเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน
รวมทั้งทำการรีแบรนด์ เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ให้เป็น เซ็นทารา ไลฟ์ โดยทยอยปรับมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และมีแผนจะรีแบรนด์ เซ็นทารา บูติก คอลเลกชัน ต่อเนื่องอีกในปีนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน เซ็นทารา มีแบรนด์โรงแรมในเครือจำนวน 6 แบรนด์ และจะขยายทั้ง 6 แบรนด์ออกสู่หลากหลายจุดหมายปลายทางทั้งในและต่างประเทศ อาทิ แผนขยายแบรนด์ เซ็นทารา รีเซิร์ฟ และโรงแรมในธีม มิราจ ในประเทศไทย มัลดีฟส์ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รวมถึงแผนการเซ็นสัญญาขยายเครือข่ายพันธมิตรในตลาดสำคัญ ๆ อย่างจีน เป็นต้น
ทุ่ม 2 พันล้านปรับใหญ่ หัวหิน
ธีระยุทธ บอกอีกว่า ไม่เพียงเท่านี้ เซ็นทารา ยังมีแผนลงทุนต่อเนื่องในปี 2568-2569 อีกประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือรวม 3 ปี (2567-2569) ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนต่อเนื่องเองในโครงการ เซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์ รีสอร์ตหรูที่มีแผนเปิดบริการในช่วงไตรมาส 1/2568
รวมถึงแผนขยายการลงทุนโรงแรมในดูไบ โดยขณะนี้ได้หารือกับพาร์ตเนอร์ที่ร่วมลงทุนโรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช ดูไบ ขยายห้องพักเพิ่มอีก 200 ห้อง จากที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว 607 ห้อง ซึ่งบอร์ดได้อนุมัติในการซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติมแล้ว คาดว่าจะเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการภายใน 3 ปี
รวมถึงแผนรีโนเวตโรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน บีช รีสอร์ท หลังได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อีก 30 ปีเรียบร้อยแล้ว โดยใช้งบฯลงทุนไว้ราว 1,700-2,000 ล้านบาท
คาดว่าใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงประมาณ 2-3 ปี นอกจากนี้ยังมีแผนปรับส่วนที่เป็นบังกะโลให้เป็นวิลล่า รวมถึงทำการศึกษาลงทุนโรงแรมระดับ 3 ดาวในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ตอนนี้เรากำลังทำแผนเสนอให้ ร.ฟ.ท.พิจารณา มีความเป็นไปได้ว่าในพื้นที่ของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน บีช รีสอร์ท นั้นในอนาคตอาจมีถึง 3 แบรนด์เพื่อจับลูกค้ากลุ่มตั้งแต่ 3 ดาว ไปจนถึงกลุ่มไฮเอนด์
ขณะเดียวกัน เซ็นทารา ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะแรกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ภายในปี 2572 เทียบจากฐานปี 2562 รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
ปี70 ขึ้นท็อป 100 เชนระดับโลก
กันย์ เสริมว่า สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ เซ็นทารา ตั้งเป้าโรงแรมในเครือทั้งหมดมีอัตราเข้าพัก (Occupancy Rate) ที่ 70-73% (ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา) และมุ่งเน้นลูกค้าในระดับกลางบนถึงไฮเอนด์มากขึ้น โดยมีเป้าเพิ่มอัตราราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (ADR) ที่ 5,500-6,000 บาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5,100 บาท
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้รวมสำหรับปี 2567 นี้จะอยู่ที่ 29,000 ล้านบาท (รวมธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร) เพิ่มขึ้นจากปี 2566 มีรายได้รวมอยู่ที่ 22,547 ล้านบาท (ธุรกิจโรงแรม 9,932 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสเฉพาะธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะมีรายได้ไว้ที่ 12,500 ล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 14-15%
ธีระยุทธ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ณ สิ้นปี 2566 เซ็นทารามีโรงแรมที่เปิดบริการแล้ว 51 แห่ง รวมกว่า 11,600 ห้อง และมีโรงแรมอยู่ในไปป์ไลน์ (ระหว่างก่อสร้างหรือเซ็นสัญญาแล้ว) 44 แห่ง รวมกว่า 9,800 ห้อง ทำให้เครือเซ็นทารามีโรงแรมในมืออยู่ 95 แห่ง รวมกว่า 21,000 ห้อง
เมื่อเปิดให้บริการโรงแรมครบ 95 แห่งในอนาคตจะทำให้ เซ็นทารา ติด Top 100 เชนโรงแรมชั้นนำระดับโลกได้ภายในปี 2570 ตามแผนยุทธศาสตร์ Future Growth ในระยะยาว
19/3/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 19 มีนาคม 2567 )