info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.221.81.212

ผุดฟีดเดอร์ EVBus เชื่อมสายสีแดง นำร่องรังสิต-คลอง 7 เคลียร์ 1 เลนวิ่ง ชม.เร่งด่วน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เปิดพิมพ์เขียวระบบฟีดเดอร์รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง คมนาคม-จังหวัดปทุมธานีวางแผนนำรถเมล์ EV Bus วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารป้อนรถไฟฟ้าแบบไร้รอยต่อ 3 เส้นทาง นำร่องโครงการแรก “สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-คลอง 7” จำนวน 8 สถานี

ไอเดียกระฉูดผ่าทางตันปัญหารถติดแหง็กในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น ผุด “busway-เลนรถเมล์พิเศษ” วิ่งบนเลนสวนทาง 1 ช่องจราจร กรมทางหลวงเร่งเคลียร์ถนน-ปรับปรุงป้ายสัญญาณจราจรถนนรังสิต-นครนายกให้เสร็จภายใน 2 เดือน รองรับรถไฟฟ้าเปิดบริการเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) แบบเสมือนจริง (soft opening) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยไม่คิดค่าโดยสาร

สีแดงเปิดเป็นทางการ พ.ย. 64

ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 3,073 คน เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิดซึ่งรัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางหากไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความตรงต่อเวลาอยู่ที่ 96.84% ความน่าเชื่อถือในการให้บริการ 99.35% อยู่ในระดับการให้บริการเป็นที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ รถไฟชานเมืองสายสีแดงมีกำหนดเปิดบริการเป็นทางการโดยเก็บค่าโดยสารภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในระหว่างนี้เป็นช่วงเวลาของการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปิดบริการเป็นทางการ โดยเฉพาะระบบเชื่อมต่อหรือระบบฟีดเดอร์ในการ “ขนคน-ขนของ” ที่จะต้องบูรณาการการทำงานให้สามารถเปิดบริการได้พร้อมกัน

ประกอบด้วยการพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้าในระยะยาว สำหรับสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารมี 3 จุดหลักที่สถานีรังสิต สถานีตลิ่งชัน และจุดจอดรถอโศก ส่วนสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้ามี 3 จุดที่สถานีเชียงรากน้อย สถานีวัดสุวรรณ และ ICD ลาดกระบัง

สำหรับโครงการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) คาดว่าการให้บริการในเส้นทางสายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ธัญบุรีคลอง 7 จะสามารถเร่งรัดดำเนินการให้สามารถให้บริการได้ทันกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

นำร่อง “สถานีรังสิต-คลอง 7”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรังสิตมีจำนวน 3 เส้นทาง คือ 1.ช่วงสถานีรังสิต-ธัญบุรีคลอง 7 ระยะทาง 19.3 กิโลเมตร 2.ช่วงสถานีรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร และ 3.ช่วงสถานีรังสิต-แยก คปอ. ระยะทาง 10.6 กิโลเมตร

ความคืบหน้าล่าสุด ทางคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จ.ปทุมธานี (อจร.จังหวัดปทุมธานี) เห็นชอบแผนดำเนินการตามผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แล้ว ขั้นตอนต่อไปเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ซึ่งคาดว่าการประชุม คจร.ต้องรอช่วงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทั้งนี้ เมื่อ คจร.พิจารณาเห็นชอบ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาเส้นทาง เงื่อนไข และลักษณะรถที่จะนำมาบริการ เพื่อออกใบอนุญาตเส้นทางสัมปทาน โดยทั้งหมดต้องเร่งรัดให้ทันกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นโครงการนำร่องสายแรกคัดเลือกเส้นทางที่ 1 ช่วงสถานีรังสิต-คลอง 7 สาเหตุเพราะในช่วงเวลาปกติพบว่าสภาพปัญหาจราจรบนถนนรังสิต-นครนายก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305) มีปริมาณการใช้รถติดขัดสะสมเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงเช้าการจราจรหนาแน่น ทำให้รถติดยาวไปถึงคลอง 4 ส่วนช่วงชั่วโมงเร่งด่วนรอบเย็นการจราจรติดขัดยาวไปถึงคลอง 7 การเริ่มนำร่องเส้นทางนี้เพราะมีความพร้อมที่สุด

โจทย์ 4 ข้อดึงคนใช้แมสทรานซิต

แหล่งข่าวกล่าวว่า ระบบฟีดเดอร์ในโครงการนำร่องนี้ มีโจทย์หลักคือทำให้คนหยุดใช้รถส่วนตัวแล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำได้ต้องมีระบบคมนาคมที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ มีความสะดวก โดยต้องมีการทำเชื่อมต่อการเดินทางจากบ้านหรือชุมชนไปยังสถานีรถไฟฟ้ารังสิต ผ่านบริการครอบคลุม 4 ด้าน

ได้แก่ 1.ต้องเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีแดงแบบไร้รอยต่อ 2.มีการเดินรถตามตารางเวลาแบบตรงต่อเวลา (on schedule services) 3.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green transport) และ 4.ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบได้ (inclusive transport)

เนรมิต Busway 2 เดือนเสร็จ

สำหรับรูปแบบระบบฟีดเดอร์ที่วางแผนไว้ในเส้นทางช่วงสถานีรถไฟฟ้ารังสิต-คลอง 7 นั้น ทางจังหวัดปทุมธานีเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยกำหนดเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิมที่ออกแบบให้เป็นรถไฟฟ้ารางเบา (light rail) เนื่องจากต้องการเร่งรัดโครงการให้ทันกับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีแดง

เบื้องต้น ออกแบบให้รถเมล์วิ่งบนเส้นทางเฉพาะ (busway) กำหนดให้อยู่ชิดเกาะกลาง โดยในช่วงเร่งด่วนรอบเช้า จะวิ่งในช่องขวาสุดของเส้นทางขาออก และในช่วงเร่งด่วนเย็น จะวิ่งในช่องขวาสุดของเส้นทางขาเข้า โดยมอบหมายให้ทางจังหวัดปทุมธานีร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ปรับปรุงกายภาพของถนนรังสิต-นครนายก และติดตั้งป้ายสัญญาณไฟจราจร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2564

EV Bus “รังสิต-นครนายก”

รายละเอียดโครงการ EV Bus ตัวรถเมล์มีความจุคนบนรถ 60-120 คน, กำหนดระยะเวลารับส่งต่อรอบ 20 นาที, ความถี่ในการรับส่งผู้โดยสารแบ่งเป็นช่วงเร่งด่วน 15 นาที/คัน กับช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 30 นาที/คัน ส่วนเวลาให้บริการกำหนดไว้ตั้งแต่ 5.00-24.00 น. มีจำนวน 8 สถานี ประกอบด้วย สถานีรังสิต, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, คลอง 2, คลอง 3, คลอง 4, คลอง 4-5, คลอง 5-6 และคลอง 7

แนวเส้นทาง เริ่มต้นที่สถานีรถไฟฟ้ารังสิต เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรังสิต-นครนายก วิ่งตรงไปขึ้นทางต่างระดับรังสิตมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครนายก วิ่งตรงไปเรื่อย ๆ และไปสิ้นสุดที่บริเวณคลอง 7 ธัญบุรี

อีก 2 เส้นทางรอเฟสต่อไป

ส่วนอีก 2 สายทางที่เหลือวางแผนดำเนินการในระยะถัดไป ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและความพร้อมของจังหวัดปทุมธานีด้วย ได้แก่ เส้นทางช่วง “สถานีรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีรังสิต วิ่งไปตามถนนเลียบคลองเปรมประชากร ผ่านวัดเปรมประชากร วัดเวฬุวัน ไปสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ในด้านสถานีมีจำนวนทั้งสิ้น 8 สถานี ประกอบด้วย สถานีรังสิต, โรงเรียนคลองเปรมประชากร, พฤกษาวิลล์, ซ.แม่เนื่อง ภู่เลี้ยง, ซ.บางพูด 2, เชียงราก, ซ.ร่วมใจอุทิศ และ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

และเส้นทางช่วง “สถานีรังสิต-แยก คปอ.” ระยะทาง 10.6 กิโลเมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีรังสิตวิ่งไปตามถนนรังสิต-นครนายก ผ่านทางต่างระดับรังสิตเข้าสู่ถนนพหลโยธิน วิ่งตามทางมาเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดที่แยก คปอ. ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตที่สถานีแยก คปอ.พอดี

ส่วนจำนวนสถานีตอนนี้วางไว้ 9 สถานีด้วยกัน อยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่เพื่อระบุตำแหน่งสถานีที่ชัดเจนต่อไป

2/9/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (2 กันยายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS